top of page
Writer's pictureDose Espresso

พอเขาเริ่มเข้าใจตัวเอง เขาก็ทำงานได้ดีขึ้น มีความสุขกับตัวเองมากขึ้น

Updated: May 29, 2019






“เราอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้ ‘Doser (ทีมงานของร้าน)’ โดยการให้เขาได้เติบโต ได้ทดลองการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ของร้านเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ และได้เห็นความเป็นผู้นำในตัวเองที่จะนำพาชีวิตของเขาไปในเส้นทางที่พวกเขาเลือก เช่น รักในการทำอะไรก็ไปให้สุดกับเส้นทางนั้น…พอเขาเริ่มเข้าใจตัวเอง เขาก็ทำงานได้ดีขึ้น มีความสุขกับตัวเองมากขึ้น” . บทสัมภาษณ์ “คุณนิ่ม – เนาวรัตน์ คู่วัจนกุล” เจ้าของร้าน Dose Espresso เจ้าของร้านกาแฟที่ให้ความสุขมากกว่ารสชาติและบรรยากาศ แต่ยังใช้การค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตัวเองในการเดินหน้าสร้างสุขร่วมสร้างให้แก่สังคม . หนึ่งในภาคีผู้เข้าร่วมเวทีพัฒนาภาวะผู้นำร่วมระดับภูมิภาค (Collective Leadership) ปี 2562 --------------------------------------------------

—เหตุผลที่มาทำร้าน Dose Espresso?— . นิ่มมีความถนัดในเรื่องการทำอาหารและกาแฟ เราไปใช้ชีวิตอยู่ออสเตเรียมา 5 ปี เริ่มแรกตั้งเป้าการเดินทางไปเพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษา แต่การเรียนต้องใช้ทุน เราจึงเลือกไปทำงานที่ร้านกาแฟเพราะได้ทั้งรายได้และได้ฝึกใช้ภาษาไปพร้อม ๆ กัน ทำไปทำมาก็เกิดความสนุก เลยจริงจังมากขึ้น ได้ไปเทคคอร์สการทำกาแฟ ได้ทำงานที่ร้าน “Dose” ออสเตเรีย ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเปิดร้านที่บ้านเกิด . เราเริ่มเปิดร้านจากความอยากทำ ไม่ได้มีความรู้ทางธุรกิจอะไรมาก พยายามหยิบจับไอเดียมาใส่ ทำทุกอย่างเอง พอทำแล้วก็รู้สึกสนุก ได้รับการตอบรับดี เพราะที่นั่นยังไม่มีใครทำ . แต่พอทำไปได้สักพักเราเริ่มมีคำถามกับทั้งตัวเองและคนอื่นว่า “เรากำลังทำไปเพื่ออะไร?” ก่อนจะค้นเจอแรงผลัก (passion) ลึก ๆ ว่า “เราไม่ได้อยากทำแค่ร้านกาแฟ แต่อยากทำอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน อยากให้สิ่งที่เราทำสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ด้วย” . เราจึงตั้งโจทย์กับตัวเองว่าเราอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้ ‘Dosser (ทีมงานของร้าน)’ โดยการให้เขาได้เติบโต ได้ทดลองการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ของร้านเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ และได้เห็นความเป็นผู้นำในตัวเองที่จะนำพาชีวิตของเขาไปในเส้นทางที่พวกเขาเลือก เช่น รักในการทำอะไรก็ไปให้สุดกับเส้นทางนั้น . . —พี่นิ่มมาเข้าร่วม ‘ยูดีไอดี’ และ ‘มาดีอีสาน’ ได้อย่างไร?— . ในจังหวะที่ DOSE เริ่มต้น “พี่เปา – พิชัย เอื้อมธุรพจน์” ผู้ก่อตั้งมาดีอีสานและทีมของเขากำลังเริ่มเปิดสอนเรื่องการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) รุ่นที่ 2 พี่เปาจึงมาชวนเราไปเรียน รุ่นเรามีกัน 9 คน จึงตกลงกันว่าเป้าหมายร่วมของเราคืออยากทำให้เมืองมันดี เลยมาตกผลึกเรื่องการทำ “UDID – ยูดีไอดี” ร่วมกัน ในคอนเซ็ปต์ว่า “ถ้าเมืองมันดี ทุกคนจะดีตามไปด้วย” . . —ภาพฝันของการทำ UDID คือการอยากเห็นจังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างไร?— . ในการมาทำงานร่วมกันของเราอาจไม่ได้มีภาพฝันที่ชัดมากว่าเราอยากให้อุดรเป็นอย่างไร แต่เรารู้สึกว่า “เราอยากให้เมืองมันดี” เราจึงใช้ตัวนี้เป็นจุดเริ่มให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงถึงกัน ใส่ความสนุกให้ผู้คนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน และทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในเมืองนี้ . ไอเดียใหม่ ๆ ที่ได้จากการระดมความคิดและการทำงานร่วมกันมันสำคัญ เพราะเราพบว่าที่ผ่านมาทุกคนพยายามทำอะไรดี ๆ ให้แก่เมือง แต่แต่ละคนกลับไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุย เอาแนวคิดมาเชื่อมกัน บางคนทำเรื่องเดียวกันแต่กลายเป็นต่างคนต่างทำ เหมือนเป็นหยดน้ำหลาย ๆ หยด ที่ไม่ได้รวมกันเป็นคลื่นเพื่อสร้างแรงกระเพื่อม เราเลยอยากเอาหยดน้ำมารวมกันเปรียบเสมือนเป็น “ขวดน้ำ” ขวดหนึ่ง ถ้าเราเอาขวดน้ำนี้โยนลงไปในน้ำ แรงจากการกระทำของเรามันน่าจะทำให้น้ำกระเพื่อมได้บ้าง . . —แสดงว่าพี่นิ่มและทีม UDID เชื่อว่าพลังของคนตัวเล็ก ๆ เมื่อมารวมตัวกันจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้?— . ใช่ค่ะ การทำงานของเรา 9 คนใน UDID เริ่มจากเอาความถนัดของเรามาเป็นตัวตั้ง เอาสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง . การที่เรารู้ว่าถนัดในเรื่องไหนอย่างไรก็สำคัญในการจะเดินหน้าการทำงาน เมื่อก่อนเราไม่รู้จักตัวเองมากนัก แต่การเข้าร่วมโครงการผู้นำแห่งอนาคต ทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น พอเราได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเป็นอย่างไร ชอบอะไร อยากทำอะไร ทำไมถึงอยากทำ ทำให้เราชัดและมีพลังพร้อมจะลุย “ตอนนี้เราไม่รู้สึกกลัว…เรากลัวเพราะเราไม่ชัด ไม่รู้จักตัวเอง” . การรู้จักตัวเองยังช่วยเสริมการทำธุรกิจอีกด้วย พอเราเข้าใจเรื่องการรู้จักตัวเอง พฤติกรรมต่าง ๆ ส่งผลถึงการกระทำ มันทำให้เราเห็นว่าการทำธุรกิจแต่ละอย่างมันมี Background ไม่ใช่แค่ขายของได้เงินเยอะ ๆ เราค้นเจอสิ่งที่มากกว่าการทำกำไร สนุกกับการทำอาชีพมากขึ้น มีความสุขขึ้น หลังจากรู้จักตัวเอง . . — การนำร่วมสำคัญอย่างไรต่ออุดรธานี?— . ในความรู้สึกของนิ่ม องค์ความรู้หรือกระบวนการคิดการทำงานแบบ Collective Leadership (นำร่วม) มันเป็นแกนระดับประเทศเลย ในการเริ่มทำองค์กรของตัวเอง เหตุการณ์จริงที่ยากที่สุดในการก้าวมาเป็นผู้นำ คือ การข้ามผ่านการ “กล้าเสียสละ” . นิ่มมองว่าปัญหาองค์รวมของประเทศหรือองค์กรเล็ก ๆ อย่างครอบครัว คือ “การขาดภาวะการนำร่วม” หากมองในมุมของธุรกิจก็คือ ‘การขาดการเป็นเจ้าของร่วม’ ถ้าในทุกระดับขององค์กรหรือสังคมมีผู้นำร่วมเยอะ ๆ มีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ การเป็นผู้นำร่วมควรจะยั่งยืนเป็นแกนสำคัญตั้งแต่ในชั้นของการศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ถ้ามีอยู่มันจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง . . — “การได้รู้จักตัวเอง มีความสุขในสิ่งที่อยากทำ” และ “การนำร่วม” พลังเหล่านี้สามารถนำมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่?— . ถ้าเรื่องนี้เกิดการแพร่กระจายเยอะ ๆ คนจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าคนหนึ่งแพร่กระจายสิ่งนี้ไปยังคนรอบตัว จะทำให้เกิดการแตกตัวของแนวคิดนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นิ่มมองว่าสังคมมันจะดีขึ้นได้เอง เพราะมันเป็นการสร้างพื้นฐาน . สำหรับองค์กรของนิ่มหรือครอบครัว นิ่มรู้สึกว่า “ปัญหาเรื่องการนำร่วม” เป็นปัญหาหลักที่สุด สร้างได้ยากที่สุด เพราะเขายังกลัวที่จะแสดงบทบาทนี้ออกมา อาจเพราะเขาไม่เข้าใจหรือไม่รู้จักตัวเองพอ แต่พอเรารู้จักตัวเอง..เราจะทำหน้าที่นี้ได้ดีขึ้น เราเอาไปทดลองใช้กับน้อง ๆ หลายคน “พอเขาเริ่มเข้าใจตัวเอง เขาก็ทำงานได้ดีขึ้น มีความสุขกับตัวเองมากขึ้น” . “เราจึงมองว่าทั้ง 2 ทักษะนี้ สำคัญมากในการจะทำให้ทุกอย่างเติบโต ทั้งครอบครัว องค์กร ธุรกิจ ไปจนถึงภาครัฐ”

131 views0 comments

Comments


bottom of page